ตอนที่ 311 สับเปลี่ยนแนวคิด
………………..
ฉินเหยาถือตำรา นั่งอยู่ข้างโต๊ะแล้วเอ่ยถามว่า “ผู้ที่ยินดีในความสุขของประชาราษฎร์ ประชาราษฎร์ย่อมยินดีในความสุขของเขา ประโยคถัดไปคืออันใด”
หลิวจี้นั่งตัวตรงอยู่หน้าโต๊ะ สองตาจับจ้องหยาดฝนที่ร่วงหล่นจากชายคาด้านนอกหน้าต่าง เหม่อลอยไปครู่หนึ่งจึงตอบ “ผู้ที่กังวลในความกังวลของประชาราษฎร์ ประชาราษฎร์ย่อมกังวลในความกังวลของเขา”
ฉินเหยาเอ่ยถาม “หมายความว่าอย่างไร”
หลิวจี้กลืนน้ำลาย “หมายความว่าหากประมุขของแคว้นใดถือเอาความสุขของเหล่าประชาราษฎร์เป็นความสุขของตนเอง เช่นนั้นแล้วเหล่าประชาราษฎร์ก็จะยินดีในความสุขของประมุขด้วย หากประมุขถือเอาความกังวลของเหล่าประชาราษฎร์เป็นความกังวลของตน เช่นนั้นแล้วเหล่าประชาราษฎร์ก็จะกังวลในความกังวลของประมุขด้วย”
ความหมายดั้งเดิมมิใช่เช่นนี้ ทว่าอาศัยการอ้างอิงจากคำอธิบายของคหบดีติงจึงได้กำหนดความหมายของคำที่กล่าวถึงในบทความว่าเป็นกษัตริย์โดยตรง
นี่ก็เป็นรูปแบบการตอบคำถามอย่างหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้สูงศักดิ์กว่าพอใจ
ฉินเหยาถือว่าเขาตอบถูกจึงถามคำถามต่อไป
“ในใจรักแล้ว ไฉนเลยมิเอ่ย! เก็บซ่อนไว้กลางใจ วันใดเล่าจักลืมเลือน!” ฉินเหยาเอ่ยถาม “ประโยคนี้มาจากที่ใด”
เส้นประสาทที่ตึงเครียดของหลิวจี้พลันคลายลงในทันใด คำถามนี้เขารู้ ง่ายดายที่สุดแล้ว
“มาจาก ’ซือจิง’” ตอบอย่างมั่นใจยิ่งนัก
เพราะเขาพบว่า เนื้อหาในสี่ตำราห้าคัมภีร์นั้นล้วนมีรูปแบบที่ชัดเจนเป็นของตนเอง ซือจิงเป็นสิ่งที่แยกแยะได้ง่ายที่สุดในบรรดานั้น
ฉินเหยาแย้มยิ้มบางเบา วางตำราลงแล้วให้หลิวจี้เลือกประโยคหนึ่งจาก ’ต้าเสวีย’ มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อเขียนบทความวิจารณ์
เขาเป็นผู้กล่าวเองว่าสี่ตำรานั้นท่องจำได้ทั้งหมดและเข้าใจอย่างแตกฉานแล้ว วันนี้นางจะทดสอบความเข้าใจของเขาว่าลึกซึ้งเพียงพอหรือไม่
หลิวจี้ที่เมื่อครู่ยังเปี่ยมด้วยความมั่นใจ หัวใจพลันหยุดเต้นไปชั่วขณะ ท่ามกลางสายฝนในฤดูใบไม้ร่วงที่เย็นเยียบ หยาดเหงื่อเม็ดโตเท่าเมล็ดถั่วสองหยดไหลลงมาจากขมับ
“เอื๊อก!” หลิวจี้กลืนน้ำลายอึกใหญ่อย่างแรง กำลังรู้สึกคอแห้ง ถ้วยชาก็ถูกยื่นมาตรงหน้าเขา
“ค่อยๆ คิด ดื่มน้ำแล้วตั้งสติคิดให้ดีเสียก่อน เจ้ายังมีเวลาอีกสามเค่อ” ฉินเหยาเอ่ยด้วยรอยยิ้ม
สี่สิบห้านาทีเขียนเรียงความเจ็ดร้อยตัวอักษร ง่ายดายนัก
เลิกคิ้วให้หลิวจี้คราหนึ่ง ฉินเหยาจึงเลื่อนเก้าอี้ไปทางประตู ประคองถ้วยชาร้อนมองสายฝนด้านนอก ช่างมีอรรถรสที่น่าสนใจไปอีกแบบ
ทว่านาฬิกาทรายจับเวลาที่พลิกคว่ำอยู่บนโต๊ะกลับทำให้หลิวจี้รู้สึกหนังศีรษะชาวาบ
เขารีบปูกระดาษให้เรียบร้อย พลางฝนหมึกพลางคิดหัวข้อที่จะเขียน
ขั้นตอนแรกนั้นยากที่สุด พอคิดหัวข้อที่ตนเองรู้สึกว่าค่อนข้างง่ายออกได้แล้ว หันไปมองดูนาฬิกาทราย สวรรค์! ทรายกลับไหลออกไปแล้วหนึ่งในสามส่วน
โดยไม่รู้ตัว เขาเงยหน้ามองคนที่อยู่ข้างประตู หลิวจี้พลันรู้สึกราวกับว่าตนเองกลับไปอยู่ในสนามสอบ
ทว่ายามนี้เวลาของเขามิใช่หนึ่งวัน แต่เป็นเวลาไม่ถึงสองเค่อ
คราวก่อนที่เมืองหลวงของมณฑลจัดการสอบ เขาเลียนแบบเนื้อหาที่ผู้เข้าสอบรุ่นก่อนทิ้งไว้ เขียนไปอย่างสับสนวุ่นวาย เขียนอย่างไม่มีแบบแผน เพียงเพื่อเติมกระดาษที่ว่างเปล่าให้เต็มเท่านั้น
ทว่าวันนี้เห็นได้ชัดว่าหนีไม่พ้นแล้ว ฉินเหยามิใช่หัวหน้าผู้คุมสอบ ผลที่จะตามมาหากเขียนส่งเดชนั้นมิกล้าแม้แต่จะจินตนาการ
แต่ว่าท่านอาจารย์ในสำนักศึกษายังสอนมิถึงเรื่องนี้เลย!
หลิวจี้ร้องว่าช่วยด้วยอย่างสุดเสียงอยู่ในใจ จับพู่กันในมือจุ่มหมึก แล้วตวัดพู่กันลงไปอย่างสุดกำลัง เขียนได้เท่าใดก็เอาเท่านั้น สำคัญคือท่าทีต้องสง่างามและจริงจัง
ฝนเริ่มซาลง เสียงฝนพรำอันแผ่วเบาเช่นนี้แว่วเข้าหู ฉินเหยาก็เริ่มรู้สึกง่วงงุนจึงเผลอหลับไปครู่หนึ่ง
หลิวจี้นึกยินดีในใจ เขาพลิกตำราดูสักหน่อยก็คงไม่เสียหายกระไรกระมัง
ทว่าวินาทีถัดมากลับเผยสีหน้าหงุดหงิด เพราะเขาไม่มีตำราใดๆ ให้อ้างอิงได้เลย
นี่เป็นครั้งแรก ที่หลิวจี้ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ครอบครองตำรามากขึ้น
น่าเสียดาย เจ็ดร้อยตัวอักษรยังเขียนไม่เสร็จ เวลาก็หมดลงเสียแล้ว
ฉินเหยาราวกับมีระฆังจับเวลาติดตั้งไว้ข้างหู ดวงตาที่หรี่อยู่พลันเบิกขึ้นตรงเวลา ลุกขึ้นเดินตรงมายังหน้าโต๊ะ
หลิวจี้รีบเขียนเพิ่มอีกสองสามตัวอักษรอย่างรวดเร็ว เพื่อให้จบประโยคอย่างสมบูรณ์
ฉินเหยาเคาะโต๊ะเบาๆ หลิวจี้วางพู่กันลง ลุกขึ้นถอยไปยืนอยู่ด้านหลังอย่างรู้หน้าที่ รอให้ฉินเหยานั่งลงตรวจข้อสอบ
เขาเลือกประโยคที่ว่า ‘พอใจในสิ่งที่คนอื่นรังเกียจ รังเกียจในสิ่งที่คนอื่นพอใจ นั่นเรียกว่าขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์ ภัยพิบัติ (菑 พ้องเสียงกับ 灾 ซึ่งแปลว่าภัยพิบัติ) ย่อมย้อนคืนสู่ตน’
ความหมายเดิมคือ การชื่นชอบสิ่งที่ผู้คนเกลียดชัง การเกลียดชังสิ่งที่ผู้คนชื่นชอบ นี่เรียกว่าฝ่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์ ภัยพิบัติย่อมจะตกถึงตัวเขาอย่างแน่นอน
ฉินเหยาจิ๊ปากครั้งหนึ่ง “การเลือกหัวข้อพอใช้ได้ ใกล้เคียงกับประสบการณ์ของเจ้ามากทีเดียว”
ดังนั้นนางจึงมีความคาดหวังอยู่บ้างแล้วอ่านต่อไป
ในบทความกล่าวว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นนิยมชมชอบความสุขสบาย ความหรูหราฟุ่มเฟือย ไม่ชอบความขยันหมั่นเพียร ความยากลำบาก
ทว่า ณ หมู่บ้านหนึ่งในอำเภอหนึ่ง มีคนผู้หนึ่ง ตั้งแต่วัยเยาว์ก็ขัดขืนต่อธรรมชาติของมนุษย์ ทำงานในไร่นาอย่างขยันขันแข็งท่ามกลางพายุฝน ในวันอากาศหนาวเหน็บก็ลงไปซักล้างในแม่น้ำ
คนผู้นี้ทุกวันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางก็จะลุกขึ้นมาช่วยบิดามารดาโม่เต้าหู้ ตกกลางคืนยามสามก็ยังอ่านตำราไม่หลับใหล ดังนั้นยังไม่ถึงวัยยี่สิบก็ป่วยเป็นโรคขาเย็น ปวดเอวอ่อนล้า ผมดำกลายเป็นมีผมขาวแซม ศีรษะล้านใบหน้าอัปลักษณ์ ผู้คนจึงตั้งฉายาให้ว่าเจ้าลาหัวล้านอัปลักษณ์
ด้วยเหตุนี้คนผู้นี้จึงรู้สึกต่ำต้อย ชอบค้อมหลัง ตลอดทั้งปีไม่พูดคุยกับผู้ใด ต่อมาบิดามารดาญาติสนิทล้วนสิ้นชีพ เหลือเพียงตัวคนเดียวจึงตายอย่างเงียบๆ ในบ้าน จนกระทั่งเน่าเปื่อยแห้งกรังแล้วถึงได้มีคนมาพบเจอ]
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ฉินเหยาก็รู้สึกได้แล้วว่าเรื่องราวเริ่มไม่ชอบมาพากล คิ้วของนางขมวดเข้าหากันแน่น
เมื่ออ่านต่อไปอีกก็เป็นกลุ่มเปรียบเทียบกับคนผู้นั้นที่ได้กล่าวถึงข้างต้น
ในบทความกล่าวว่า ยังมีคนอีกผู้หนึ่งที่อยู่ในอำเภอหนึ่ง ตั้งแต่วัยเยาว์ก็ดำเนินชีวิตตามธรรมชาติของมนุษย์ ยามควรนอนก็นอน ยามควรตื่นก็ตื่น เสพสุขความสบาย ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ลำบากตรากตรำ บิดามารดาญาติสนิทเรียกให้ทำงาน ก็ทำเพียงสิ่งที่ควรทำเท่านั้น รู้สึกล้าก็หยุดพักผ่อน เป็นเช่นนี้เนิ่นนาน ทั้งร่างกายและจิตใจจึงล้วนแข็งแรงสมบูรณ์ บิดามารดาญาติสนิทต่างก็ยินดี
วันหนึ่งมีพระผู้บรรลุธรรมรูปหนึ่งธุดงค์ผ่านมา บอกแก่บิดามารดาญาติสนิทของเขาว่า คนผู้นี้มีลักษณะของผู้มั่งคั่งสูงส่ง และการที่มีลักษณะเช่นนี้ล้วนเป็นเพราะคนผู้นี้ยอมรับธรรมชาติของมนุษย์ ยินดีในสิ่งที่คนยินดี รังเกียจในสิ่งที่คนรังเกียจ…]
เขียนถึงตรงนี้ เนื้อหาก็ขาดหายไป เพราะหมดเวลาแล้ว หลิวจี้จึงไม่สามารถเขียนต่อจนจบได้
ฉินเหยามองบทความในมือ นิ่งเงียบไปถึงสามนาทีเต็ม…นางเกือบจะถูกเจ้าหมอนี่ชักจูงให้หลงทางไปแล้ว กลับรู้สึกว่าเขาเขียนได้ไม่เลวเลยทีเดียว มีเหตุมีผล ทั้งยังมีการเปรียบเทียบกลุ่มตรงข้ามอีกด้วย
โชคดีอย่างถึงที่สุด ที่สติของนางยังแจ่มชัด ไม่ได้ถูกลากลงโคลนไป
หัวข้อที่เลือกนั้นถูกต้อง ทว่าตั้งแต่เริ่มอธิบาย ผู้ตอบก็ได้ลอบสับเปลี่ยนแนวคิดเสียแล้ว
คำว่า ‘พอใจ’ และ ‘รังเกียจ’ ในหัวข้อนี้ มิได้หมายถึงความขยันหมั่นเพียร ความยากลำบาก หรือการเสพสุขความหรูหราฟุ่มเฟือย
หากแต่มีความหมายที่กว้างกว่านั้น เป็นหลักแห่งคุณธรรมที่หมู่ชนทั่วไปควรยึดถือเป็นบรรทัดฐานแห่งความถูกผิด
ใน ’ต้าเสวีย’ นั้น นี่คือสิ่งที่เจิงจื่อได้มาหลังจากการวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ เป็นประสบการณ์ที่ผู้มีอำนาจพึงยึดไว้เพื่อใช้แยกแยะคน รู้จักคน ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา และนำพาประชาราษฎร์
ความพอใจในที่นี้ คือสิ่งที่ฟ้าดินและหมู่คนรับใช้ถือว่าเป็นความดี ความรังเกียจในที่นี้ คือสิ่งที่ฟ้าดินและหมู่คนรับใช้ถือว่าเป็นความชั่ว
ประชาราษฎร์ย่อมรักคุณธรรมและรังเกียจคนทุจริต หากผู้มีอำนาจไม่อาจกระทำตามหลักที่ว่า ‘พอใจในสิ่งที่คนอื่นรังเกียจ รังเกียจในสิ่งที่คนอื่นพอใจ’ ได้ ก็เท่ากับฝืนฟ้าต้านธรรมชาติ ภัยพิบัติย่อมย้อนคืนสู่ตนในที่สุด
บทวิจารณ์ของหลิวจี้นี้ตอบไปคนละประเด็นโดยสิ้นเชิง ผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อไม่เห็นปฏิกิริยาจากฉินเหยาเป็นเวลานาน หลิวจี้ที่ยืนรอรับการตัดสินอยู่ด้านหลัง หัวใจก็เต้นไม่เป็นส่ำ สุดท้ายก็ทนไม่ไหวจึงเอ่ยถามเสียงแผ่วเบาว่า
“เมียจ๋า บทวิจารณ์นี้เจ้าเห็นว่าเป็นอย่างไรบ้าง”
ปัง! ฉินเหยาตบม้วนคำตอบลงบนโต๊ะ ทำเอาหลิวจี้สะดุ้งสุดตัว เกือบจะควบคุมสัญชาตญาณของร่างกายที่อยากจะคุกเข่าลงไม่ได้
“ไม่…ไม่ดีหรือ” หลิวจี้ฝืนใจกล่าวอย่างเจื่อนๆ “หากเจ้าไม่พอใจ ข้าจะเขียนใหม่อีกฉบับ แต่เมียจ๋า เจ้าอย่าได้โมโหจนเสียสุขภาพเพราะเรื่องเล็กน้อยเพียงนี้เลย…”
ฉินเหยาหันกลับมา ในดวงตาทั้งสองฉายแววเย็นเยียบ “นี่น่ะหรือที่เจ้าบอกข้าว่าเข้าใจอย่างแตกฉานทั้งหมดแล้ว?”
หลิวจี้คุกเข่าลงจนได้ “มิบังอาจปิดบังเมียจ๋า ข้ายอมรับ ว่ามีส่วนที่กล่าวเกินจริงไปบ้างเล็กน้อย แต่ว่า!”
เขามีเหตุผลอันสมควรที่จะชี้แจงถึงความผิดพลาดเล็กน้อยนี้
ฉินเหยาขมวดคิ้ว นางจะรอดูว่าเขาจะแก้ตัวอย่างไร
………………..
MANGA DISCUSSION